วันพฤหัสบดีที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2555

การอ่านจับใจความ


การอ่านจับใจความ
 
ความหมายของการอ่านจับใจความสำคัญ

          คือ การอ่านเพื่อจับใจความหรือข้อคิด ความคิดสำคัญหลักของข้อความ หรือเรื่องที่อ่าน เป็นข้อความที่คลุมข้อความอื่น ๆ ในย่อหน้าหนึ่ง ๆ ไว้ทั้งหมด

          ใจความสำคัญ  หมายถึง ใจความที่สำคัญ และเด่นที่สุดในย่อหน้า เป็นแก่นของย่อหน้าที่สามารถครอบคลุมเนื้อความในประโยคอื่นๆ ในย่อหน้านั้นหรือประโยคที่สามารถเป็นหัวเรื่องของย่อหน้านั้นได้ ถ้าตัดเนื้อความของประโยคอื่นออกหมด หรือสามารถเป็นใจความหรือประโยคเดี่ยวๆ ได้ โดยไม่ต้องมีประโยคอื่นประกอบ ซึ่งในแต่ละย่อหน้าจะมีประโยคในความสำคัญเพียงประโยคเดียว หรืออย่างมากไม่เกิน  2 ประโยค

          ใจความรอง หรือพลความ(พน-ละ-ความ) หมายถึง ใจความ หรือประโยคที่ขยายความประโยคใจความสำคัญ เป็นใจความสนับสนุนใจความสำคัญให้ชัดเจนขึ้น  อาจเป็นการอธิบายให้รายละเอียด ให้คำจำกัดความ ยกตัวอย่าง เปรียบเทียบ หรือแสดงเหตุผลอย่างถี่ถ้วน เพื่อสนับสนุนความคิด ส่วนที่มิใช่ใจความสำคัญ และมิใช่ใจความรอง แต่ช่วยขยายความให้มากขึ้น คือ รายละเอียด

 

หลักการจับใจความสำคัญ

          ๑. ตั้งจุดมุ่งหมายในการอ่านให้ชัดเจน

          ๒. อ่านเรื่องราวอย่างคร่าวๆ พอเข้าใจ และเก็บใจความสำคัญของแต่ละย่อหน้า

          ๓. เมื่ออ่านจบให้ตั้งคำถามตนเองว่า เรื่องที่อ่าน มีใคร ทำอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ อย่างไร

          ๔. นำสิ่งที่สรุปได้มาเรียบเรียงใจความสำคัญใหม่ด้วยสำนวนของตนเองเพื่อให้เกิดความสละสลวย

วิธีจับใจความสำคัญ

          วิธีการจับใจความมีหลายอย่าง ขึ้นอยู่กับความชอบว่าอย่างไร เช่น การขีดเส้นใต้ การใช้สีต่างๆ กัน แสดงความสำคัญมากน้อยของข้อความ การบันทึกย่อเป็นส่วนหนึ่งของการอ่านจับใจความสำคัญที่ดี แต่ผู้ที่ย่อควรย่อด้วยสำนวนภาษาและสำนวนของตนเองไม่ควรย่อด้วยการตัดเอาข้อความสำคัญมาเรียงต่อกัน เพราะอาจทำให้ผู้อ่านพลาดสาระสำคัญบางตอนไปอันเป็นเหตุให้การตีความผิดพลาดคลาดเคลื่อนได้  วิธีจับใจความสำคัญมีหลักดังนี้

          ๑. พิจารณาทีละย่อหน้า หาประโยคใจความสำคัญของแต่ละย่อหน้า

          ๒. ตัดส่วนที่เป็นรายละเอียดออกได้ เช่น ตัวอย่าง สำนวนโวหาร อุปมาอุปไมย(การเปรียบเทียบ) ตัวเลข สถิติ ตลอดจนคำถามหรือคำพูดของผู้เขียนซึ่งเป็นส่วนขยายใจความสำคัญ

          ๓. สรุปใจความสำคัญด้วยสำนวนภาษาของตนเอง

การพิจารณาตำแหน่งใจความสำคัญ

          ใจความสำคัญของข้อความในแต่ละย่อหน้าจะปรากฏดังนี้

                   ๑.   ประโยคใจความสำคัญอยู่ตอนต้นของย่อหน้า

                   ๒.   ประโยคใจความสำคัญอยู่ตอนกลางของย่อหน้า

                   ๓.   ประโยคใจความสำคัญอยู่ตอนท้ายของย่อหน้า

                   ๔.  ประโยคใจความสำคัญอยู่ตอนต้นและตอนท้ายของย่อหน้า

                   ๕.   ผู้อ่านสรุปขึ้นเอง จากการอ่านทั้งย่อหน้า(ในกรณีใจความสำคัญหรือความคิดสำคัญอาจอยู่รวมในความคิดย่อย ๆ โดยไม่มีความคิดที่เป็นประโยคหลัก)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น